Wednesday, July 30, 2008

สมบัติผู้ดี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงอธิบายถึงความหมายของผู้ดีความตอนหนึ่งว่า ...ผู้ดีไม่ได้หมายถึงคนมีทรัพย์ ไม่ได้หมายถึงคนมีสกุล แต่หมายถึงคนที่ประพฤติปฏิบัติดีทั้งกาย วาจา และที่สำคัญคือใจ ขอทานเขาก็เป็นผู้ดีได้...
เปิดหนังสือ สมบัติผู้ดี โดย เจ้าพระยาวิสุทธิ์สุริยศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ซึ่งเรียบเรียงไว้ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๕๕ พบคุณสมบัติผู้ดีไว้ ๑๐ บท แต่ละบทครอบคลุมทั้งกายจริยา วจีจริยา และมโนจริยา หรือกาย วาจา ใจ สรุปเป็นตัวอย่างดังนี้
บทที่ ๑ ผู้ดีย่อมรักษาความเรียบร้อย ไม่ใช้กิริยาอันกล้ำกรายบุคคล ไม่สอดสวนวาจาหรือแย่งชิงพูด ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านกำเริบหยิ่งยโส

บทที่ ๒ ผู้ดีย่อมไม่ทำอุจาดลามก ใช้เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวอันสะอาดเรียบร้อย ไม่กล่าวถึงสิ่งโสโครกพึงรังเกียจในท่ามกลางชุมชน พึงใจที่จะรักษาความสะอาด

บทที่ ๓ ผู้ดีย่อมมีสัมมาคารวะ นั่งด้วยกิริยาอันสุภาพเฉพาะหน้าผู้น้อย ไม่พูดจาล้อเลียนผู้ใหญ่ เคารพยำเกรงบิดามารดาและอาจารย์ นับถือนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ มีความอ่อนหวานแก่ผู้น้อย

บทที่ ๔ ผู้ดีย่อมมีกิริยาเป็นที่รัก ไม่ทำกิริยารื่นเริงเมื่อเขามีทุกข์ ไม่เที่ยวติเตียนสิ่งของที่เขาตั้งแต่งไว้ในบ้านที่ตนไปสู่ ไม่กล่าวสรรเสริญรูปกายบุคคลแก่ตัวเขาเอง ไม่พูดเคาะแคะสตรีกลางประชุม และย่อมรู้จักเกรงใจคน

บทที่ ๕ ผู้ดีย่อมเป็นผู้มีสง่า มีกิริยาอันผึ่งผายองอาจ จะยืนนั่งย่อมอยู่ในลำดับอันสมควร พูดจาฉะฉานชัดถ้อยความ มีความรู้จักงามรู้จักดี มีอัชฌาสัยอันกว้างขวางเข้าไหนเข้าได้

บทที่ ๖ ผู้ดีย่อมปฏิบัติการงานดี ทำการอยู่ในระเบียบแบบแผน ไม่ละเลยที่จะตอบจดหมาย พูดสิ่งใดย่อมให้เป็นที่เชื่อถือได้ เป็นผู้รักษาความสัตย์ ไม่เป็นผู้เกียจคร้าน

บทที่ ๗ ผู้ดีย่อมเป็นผู้ใจดี เมื่อเห็นเหตุร้ายหรืออันตรายจะมีแก่ผู้ใดย่อมต้องรีบช่วย ไม่เยาะเย้ยถากถางผู้กระทำผิดพลาด ไม่ใช้วาจาอันข่มขี่ ไม่มีใจอันโหดเหี้ยมเกรี้ยวกราดแก่ผู้น้อย เอาใจโอบอ้อมอารีแก่ผู้อื่น

บทที่ ๘ ผู้ดีย่อมไม่เห็นแก่ตัวฝ่ายเดียว เป็นผู้ใหญ่จะไปมาลุกนั่งย่อมไว้ช่องให้ผู้น้อยมีโอกาสบ้าง ไม่ขอแยกผู้หนึ่งมาจากผู้ใดเพื่อพาไปพูดจาความลับกัน ไม่มีใจมักได้ ไม่พึงใจการหยิบยืมข้าวของทองเงินซึ่งกันและกัน

บทที่ ๙ ผู้ดีย่อมรักษาความสุจริตซื่อตรง ไม่ละลาบละล้วงเข้าห้องเรือนแขกก่อนเจ้าของบ้านเขาเชิญ ไม่ซอกแซกไต่ถามธุระส่วนตัวหรือการในบ้านของเขา เป็นผู้รักษาความไว้วางใจของผู้อื่น

บทที่ ๑๐ ผู้ดีย่อมไม่ประพฤติชั่ว ไม่เป็นพาลเที่ยวเกะกะระรั้วและกระทำร้ายคน ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเจ็บอายเพื่อความสนุกยินดีของตน ไม่เป็นพาลพอใจทะเลาะวิวาท ไม่พอใจนินทาว่าร้ายกันและกัน ไม่ปองร้ายผู้อื่น มีความเหนี่ยวรั้งใจตนเอง เป็นผู้มีความละอายแก่บาป

No comments: