Monday, March 17, 2008

เทคนิคการเขียนเพลง


เมื่อคุณต้องการจะเขียนเพลงสักเพลงหนึ่ง
เมื่อคุณต้องการเขียนเพลงขึ้นมาสัก 1 เพลง สิ่งที่คุณควรคำนึงถึงก่อนการเริ่มเขียนเพลงคือ
มีทำนองเพลงแล้ว คุณต้องจำเมโลดี้เพลงนั้นให้ได้ก่อน (กรณีที่คุณไม่ได้เป็นคนแต่งทำนองขึ้นมา) ถ้าทำนองเพลงนั้นๆอัดใส่เทปไว้ คุณควรเปิดฟังไปเรื่อยๆ (อย่างต่ำ 10 รอบ) ขณะที่ฟัง คุณลองวิเคราะห์ว่าทำนองเพลงนั้นสื่ออารมณ์แบบไหน เช่น เศร้า , สนุก , มีความหวัง , ให้กำลังใจ ฯ (ใช้อารมณ์ของคุณเป็นเกณฑ์ แต่คุณต้องฟังหลายๆ รอบจริงๆ) ถ้าคุณวิเคราะห์ได้จะทำให้คุณเขียนเพลงได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าคุณวิเคราะห์ผิดจะทำให้คุณเสียเวลามาก เพราะต้องมาแก้ที่จุดวิเคราะห์ทำนองอีกครั้ง เมื่อคุณได้อารมณ์เพลงแล้ว พอจำเมโลดี้ของเพลงได้แล้ว คราวนี้ฟังพิจารณาดูว่าเมโลดี้ท่อนไหนของเพลงที่สะดุดหู(ฟังดูดี) หรือ ฟังแล้วจำง่าย ให้เอาท่อนนั้นมาใส่คำร้องโดยให้ยึดเมโลดี้และอารมณ์เป็นหลัก อย่าให้คำเพี้ยนจากความเป็นจริง แล้วทำท่อนนั้นขยายออกไป ส่วนเทคนิคในการเขียนจะขออธิบายต่อจากอีกข้อนะครับ
ไม่มีทำนองเพลง อันนี้ง่ายครับ เขียนไปเลยเหมือนเขียนบทกลอน ไม่มีทำนองและอารมณ์มาบังคับในการเขียน แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวนะครับ เพลงที่ไพเราะจะต้องเขียนทำนองขึ้นมาก่อนเขียนเนื้อร้องครับ ข้อสังเกตของการฟังเพลงว่าเพลงนั้นเขียนทำนองหรือเขียนเนื้อร้องก่อน ลองวิเคราะห์ตามนี้ครับ เพลงที่มีเมโลดี้สูงต่ำบ่อยๆ หรือ มีเมโลดี้สูงต่ำในส่วนของเพลงที่มีไม่ใช่ท่อนฮุก เพลงนั้นจะเป็นการเขียนทำนองก่อนเขียนเนื้อร้อง ส่วนเพลงที่มีเมโลดี้ในเพลงเป็นเสียงเดียวกันบ่อยๆ (โน๊ตซ้ำ) เพลงนั้นเป็นการเขียนคำร้องขึ้นมาก่อน แล้วหาทำนองใส่ลงไปโดยใช้คำพูดเป็นตัวกำหนดเสียงสูงต่ำ
เทคนิคการเขียนเพลง เมื่อคุณจะลงมือเขียนเพลงเทคนิคเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญและจะทำให้เพลงมีคุณภาพได้
1. กำหนดเรื่องราวในบทเพลง ตั้งแต่ต้นจนจบ (อารมณ์เพลงที่ได้จากการฟังทำนอง)
2. กำหนดเหตุการณ์ขึ้นมาว่ามีเหตุการณ์อะไรในเพลงบ้าง (คล้ายละครสั้น)
3. กำหนดตัวละครขึ้นมาว่าในเหตุการณ์นั้นมีไครเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง
4. ผู้ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวละครตัวไหนในเหตุการณ์ หรือ เป็นอะไรกับเหตุการณ์นั้นๆ
5. กำหนด เวลา , สถานที่ ในการถ่ายทอด เช่น การบอกรักในอารมณ์ตอนเช้า หรือ ตอนเย็น จะต่างกัน หรือ บอกรักในบ้านกับบอกรักที่ริมทะเลก็ต่างกัน (อารมณ์มันต่างกัน)
6. การสัมผัสนอกสัมผัสในเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เพลงนั้นฟังแล้วเสนาะหู แต่ไม่จำเป็นต้องมีทุกช่วงเหมือนแต่งบทกลอนก็ได้
7. คำขึ้นต้นต้องแข็งแรง คือ คำร้องท่อนแรกของเพลงพอฟังแล้วรู้สึกอยากฟังต่อ หรือ อยากรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในเหตุการณ์นั้น ส่วนนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่คนฟังเพลงนั้นครั้งแรกจะยอมฟังเพลงนั้นจบหรือไป
8. กระชับ เข้าใจ , ได้ใจความ และสรุปจบแบบลงตัว ต้องสรุปนะครับ(จบแบบไหน เช่น สมหวัง หรือ ผิดหวัง ฯ) ถ้าไม่มีสรุปก็เหมือนดูหนังแล้วไม่มีจบ (จบแบบงงๆ ว่ามันจะเป็นยังไงต่อไป หนังยังสร้างภาค 2 ได้ แต่เพลงไม่มีภาค 2 นะครับ)
9. ใช้ธรรมชาติมาช่วยในการบรรยาย หรือ เปรียบเปรยกับธรรมชาติ เช่น สายลม แสงแดด ท้องฟ้า ลำธาร ฯลฯ เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าให้มันมากเกินไปจนฟังแล้วเลี่ยนหู
10. ยึดมั่นในอารมณ์เพลง อย่าให้อารมณ์เปลี่ยนไป และไม่ควรมีหลายอารมณ์ใน 1 เพลง เช่น เพลงนี้เป็นเพลงสร้างกำลังใจฟังแล้วรู้สึกมีกำลังใจในการต่อสู้ชีวิต รู้สึกฮึกเหิมขึ้นมา แต่พอใกล้จบเพลง เนื้อเพลงกลับเป็นการไม่แน่ใจในการทำสิ่งนั้นลงไป ไม่กล้าที่จะทำ (อารมณ์ในการฟังเปลี่ยนทันที ถือเป็นเพลงที่แย่มากครับ)
11. เนื้อร้องต้องเป็นคำที่ทุกคนฟังแล้วเข้าใจ ไม่ใช่เป็นคำเฉพาะกลุ่ม หรือ ฟังแล้วกลุ่มส่วนน้อยเข้าใจ แต่คนส่วนใหญ่ฟังแล้วไม่เข้าใจ
12. เพลงที่เขียนขึ้นมา ศิลปินผู้ถ่ายทอดเป็นใคร เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้ชาย หรือ ผู้หญิง เช่นศิลปินเป็นเด็กแต่เพลงบอกรักถี่ยิบเลยก็คงไม่เหมาะสม หรือ ศิลปินผู้หญิงอ่อนหวานแต่เพลงมีคำพูดดูแข็งกร้าว ดุเดือด ก็คงดูไม่ดี เป็นต้นครับ แต่จะมีข้อติงที่ว่า แล้วจะเขียนอย่างไรถ้ายังไม่รู้ว่าศิลปินผู้ถ่ายทอดเป็นใคร ไม่เป็นไรครับ เขียนไปเลยโดยให้ยึดอารมณ์ของเพลงเป็นข้อสำคัญนะครับ เพลงที่ได้จะไปเกลาให้เข้ากับศิลปินอีกที (กรณีเป็นนักเขียนไม่มีค่ายเพลง กรณีมีค่ายเพลงเขาจะรู้ล่วงหน้าครับว่าเพลงที่จะแต่ง ศิลปินคนไหนจะเป็นคนถ่ายทอด)
นี่คงเป็นเทคนิคเล็กน้อยที่จะทำให้คุณเขียนเพลงได้ง่ายขึ้น และทำให้เพลงของคุณมีคุณภาพมากขึ้นนะครับ
ขอให้คุณมีความสุขในการเขียนเพลงนะครับ

No comments: