Wednesday, July 28, 2010

การเลือกใช้แท้งค์น้ำ

ขนาดแท้งค์เก็บน้ำที่เหมาะสม
โดยทั่วไปเราต้องเลือกขนาดแท้งค์เก็บน้ำให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบ้าน เพื่อให้มีน้ำสำรองใช้มากพอเพียง โดยมีหลักดังนี้
1. ควรมีปริมาณน้ำสำรองอย่างน้อย ประมาณ 3 วัน เผื่อสำหรับเหตุขัดข้องน้ำประปาไม่ไหล จะได้มีน้ำใช้
2. คำนวณปริมาณการใช้น้ำทั้งหมดในบ้าน โดยแต่ละคนจะใช้น้ำ ประมาณ 200 ลิตร/คน/วัน
ดังนั้นถ้ามีคนในบ้าน 5 คน
ปริมาณการใช้น้ำประมาณ 200 X 5 = 1,000 ลิตร/วัน
แนะนำให้มีน้ำสำรองใช้ 3 วัน ดังนั้น ควรเลือกแท้งค์ที่เก็บน้ำมากกว่า 3,000 ลิตร
ถ้าต้องการมีน้ำสำรองใช้ 2 วัน เลือกแท้งค์ที่เก็บน้ำมากกว่า 2,000 ลิตร
ถ้าต้องการมีน้ำสำรองใช้ 1 วัน เลือกแท้งค์ที่เก็บน้ำมากกว่า 1,000 ลิตร
(แท้งค์ทั่วไปควรเลือกแท้งค์ขนาดใหญ่กว่าที่ต้องการ เนื่องจากแท้งค์ทั่วไป มีปริมาณน้ำที่นำไปใช้ได้จริงน้อยกว่าขนาดแท้งค์มาก ใช้ได้ประมาณ 70 - 75 % ของขนาดแท้งค์)
ปริมาณการใช้น้ำ 200 ลิตร/คน/วัน เป็นค่าเฉลี่ย ซึ่งการใช้จริงอาจมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้น้ำของแต่ละคนด้วย ถ้าบ้านขนาดใหญ่ที่มีอ่างอาบน้ำ ใช้ล้างรถ ใช้รดน้ำต้นไม้ อาบน้ำสุนัข อาจใช้น้ำถึง 400 ลิตร/คน/วัน , ปริมาณน้ำสำรองอาจน้อยกว่าที่แนะนำได้แต่จะมีผลให้มีน้ำใช้น้อยเมื่อน้ำไม่ไหล
การเลือกชนิดแท้งค์เก็บน้ำ
แท้งค์เก็บน้ำมีหลายแบบ ทำจากวัสดุต่างๆกัน จะเลือกแบบไหนดี
แท้งค์ที่มีจำหน่ายทั่วไป ทุกแบบมีทั้งข้อดี และข้อเสีย ซึ่งแล้วแต่วัตถุประสงค์ของผู้ใช้ว่าแบบไหนจะเหมาะสมกับการใช้งานอย่างไร โดยแทงค์เก็บน้ำแต่ละแบบมีข้อดี - ข้อเสีย ดังนี้
แท้งค์พลาสติก พีอี (PE)
ทำจากพลาสติก โดยการหลอมเม็ดพลาสติกแล้วหล่อขึ้นรูปในแบบ เป็นถังเก็บน้ำ ซึ่งมีทั้งแบบฝังใต้ดิน และวางบนพื้น
ข้อดี : - ตัวแท้งค์ไม่มีรอยต่อ
- บางยี่ห้อทำเป็นแบบสองชั้น ชั้นในทำด้วยพลาสติกเกรดดี ชั้นนอกทำด้วยพลาสติกเกรดสอง เป็นการลดต้นทุน และพลาสติกในส่วนที่สัมผัสน้ำเป็นเกรดดี
- ทำสีได้สวยงามสดใส
- ผิวเรียบ ทำความสะอาดง่าย
ข้อเสีย : - น้ำหนักมาก เคลื่อนย้ายไม่สะดวก
- เมื่อตากแดดระยะยาว อาจเกิดการเสื่อมสภาพของพลาสติก และอาจแตกร้าวได้
- อาจมีกลิ่นเหม็นจากเนื้อพลาสติก
- เมื่อใช้ใไนานภายในแท้งค์อาจเกิดเมือก ลื่นๆ เกาะที่ผิวแท้งค์
- ถ้าแท้งค์ไม่ทึบแสงมากพอ อาจเกิดตะไคร่น้ำภายในแท้งค์ได้
แท้งค์ไฟเบอร์กลาส
ทำจากการขึ้นรูปใยไฟเบอร์กลาสและทาด้วยเรซิ่นให้ใยเกาะกันเป็นแผ่น ตามรูปแม่พิมพ์
ข้อดี : -
ข้อเสีย : - น้ำหนักมาก เคลื่อนย้ายไม่สะดวก
- ระยะยาวอาจเกิดการเสื่อมสภาพ ใยไฟเบอร์กลาสหลุดออกปนอยู่ในน้ำ
- อาจมีกลิ่นเหม็นจาก เรซิ่นที่ใช้เคลือบ
- ผิวไม่ค่อยเรียบ ดูไม่สวยงาม ทำความสะอาดยาก
แท้งค์สเตนเลส
ทำจากแผ่นสเตนเลสม้วนขึ้นรูปเป็นตัวแท้งค์ และเชื่อมต่อกับส่วนหัว-ก้นแท้งค์
ข้อดี : - น้ำหนักเบากว่าแท้งค์แบบอื่น เคลื่อนย้าย ติดตั้งง่าย
- ทำจากสเตนเลสสะอาดไม่เป็นสนิม
- ทึบแสง ไม่เกิดตะไคร่น้ำภายในแท้งค์
- ผิวเรียบ ทำความสะอาดง่าย
ข้อเสีย : - มีรอยเชื่อมต่อ ซึ่งถ้าเชื่อมไม่ดีอาจเกิดการรั่วซึม
- ระยะยาวอาจเกิดสนิมที่รอยเชื่อมต่อได้ง่าย
- น้ำหนักเบา ถ้าติดตั้งบนดาดฟ้าสูง ถ้าในแท้งค์ไม่มีน้ำอาจโดนลมพัดล้มได้
แท้งค์ซีเมนต์
ทำจากการก่ออิฐแล้วฉาบปูน หรือหล่อจากปูนซีเมนต์เป็นรูปแท้งค์สำหรับเก็บน้ำ
ข้อดี : - แข็งแรง
- สามารถทำขนาดใหญ่ เก็บน้ำมากๆได้
ข้อเสีย : - น้ำหนักมาก ต้องทำฐานราก เคลื่อนย้ายยากหรือเคลื่อนย้ายไม่ได้
- ก่อสร้างยาก ไม่สะดวก
- ถ้าสร้างไม่ดี อาจเกิดการรั่วซึมได้
- ทำความสะอาดยาก
แท้งค์ฝังดิน
อาจใช้แท้งค์พลาสติกหรือแท้งค์ซีเมนต์ เป็นถังเก็บน้ำฝังดิน
ข้อดี : - น้ำประปาไหลเข้าแท้งค์ได้ง่าย เพราะอยู่ต่ำ
- ประหยัดที่ ไม่เกะกะ
ข้อเสีย : - ค่าใช้จ่ายสูง สร้างยาก ควรทำในระหว่างก่อสร้างบ้าน
- ต้องมีฐานราก เพื่อป้องกันการทรุดตัว
- ขณะที่แท้งค์ไม่มีน้ำ แต่น้ำในดินสูง แท้งค์อาจเกิดการลอยตัว เกิดการแตกร้าวได้
- รักษาความสะอาดยาก ฝุ่น, น้ำสกปรก ไหลเข้าเพราะอยู่ต่ำ เป็นที่อยู่ของมด, แมลงสาบ
- ทำความสะอาดยาก ต้องใช้ปั๊มดูดน้ำระบายออก
- ซ่อม , บำรุงรักษายาก เพราะอยู่ใต้ดินทำงานยาก
การติดตั้งแท้งค์น้ำสเตนเลส
- ควรติดตั้งใกล้ท่อน้ำประปาภายนอกให้มากที่สุด เพื่อให้น้ำไหลเข้าแท้งค์ได้สะดวก
- ควรใช้ท่อน้ำเข้าแท้งค์ขนาดใหญ่ อย่างน้อยขนาด 3/4 หรือ 1 นิ้ว ท่อขนาดเล็กทำให้น้ำไหลเข้าแท้งค์ช้า
- การเคลื่อนย้าย , ติดตั้ง ต้องระวังไม่ให้ของมีคมกระแทกแท้งค์ ซึ่งอาจทำให้แท้งค์ชำรุดได้
- ควรติดตั้งให้มีพื้นที่สำหรับเข้าทำงานซ่อมแซมได้สะดวก
- กรณีติตดั้งในที่โล่งมีลมแรง ควรยึดแท้งค์กับขาให้แน่นหนา และยึดขาแท้งค์กับพื้น และควรมีน้ำเต็มในแท้งค์ตลอดเวลา เพื่อป้องกันแท้งค์ล้มเนื่องจากลมแรง
- แท้งค์น้ำสเตนเลสขนาดใหญ่ (ตั้งแต่ 2,000 ลิตร ขึ้นไป) หรือในพื้นทีที่ดินอ่อนมาก ควรเทพื้นซีเมนต์เสริมโครงเหล็กโดยใช้เหล็กเส้นขนาด 6 มม. หรือ 2 หุน ผูกเป็นตารางขนาดประมาณ 20 X 20 cm. โดยเทพื้นหนาประมาณ 8 - 10 cm รองรับด้วย ขนาดกว้าง-ยาวให้ใหญ่พอที่จะตั้งแท้งค์ได้สะดวก หรืออาจจะเผื่อพื้นที่ตั้งปั๊มน้ำด้วยก็จะดีมาก

1 comment:

kallymoral said...

Nice work. But i can't understand the language of your blog content...